การเมือง ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ดูบทความหลักที่: การปฏิวัติสยาม

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบ้านการเมือง ตั้งแต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ไม่นาน เมื่อทรงได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างเปิดเผย โดยยังทรงเป็นที่นับถือของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นนายทหารชั้นอาวุโส และทรงสำเร็จการศึกษาจากสถาบันเดียวกับพระองค์

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน คณะราษฎรนำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ลองทาบทามพระองค์ให้เข้าร่วมกับคณะราษฎร พระองค์เจ้าบวรเดชรับสั่งให้พระยาพหลฯ และพรรคพวกเขียนความเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองลงหนังสือพิมพ์ ทำนองขอประชามติเช่นเดียวกับอารยประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งพระยาพหลฯกราบทูลว่า ผู้ที่ทำเช่นนั้นติดคุกไปแล้วหลายคน วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้กำลังบุกจู่โจมจับคณะอภิรัฐมนตรีขังไว้ แล้วกราบขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็คงจะสำเร็จ แต่พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงตอบพระยาพหลฯไปว่า ตัวพระองค์เกิดในพระราชวงศ์จักรี หากทำเช่นนั้นจะได้ชื่อว่าอกตัญญู

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดช ถือเป็นเจ้านายระดับสูงเพียงไม่กี่พระองค์ที่ไม่ถูกควบคุมองค์ไว้ในฐานะองค์ประกัน แต่ในเวลาราว 23.00 น. ของคืนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ คณะราษฎรได้ยึดกุมเอาไว้เป็นสถานที่บัญชาการ พระองค์เจ้าบวรเดชก็ยังได้ไปปรากฏพระองค์ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงแจ้งความประสงค์จะขอพบกับหัวหน้าคณะผู้ก่อการ เมื่อได้พบแล้ว พระองค์ท่านได้สนทนาเพียงสั้น ๆ ว่า ทำอะไรกัน ทำไมไม่บอกให้รู้กันก่อน เมื่อหัวหน้าผู้ก่อการ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทูลตอบว่า จะให้ทรงทราบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สำเร็จ พระองค์เจ้าบวรเดชจึงกล่าวว่า เมื่อทำแล้ว ก็ขอให้ทำให้ถึงที่สุด เสร็จแล้วก็เสด็จกลับ[15]

กบฏบวรเดช

ดูบทความหลักที่: กบฏบวรเดช

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เกิดความแตกแยกในคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับผู้นำในคณะราษฎรหลายครั้งเกี่ยวกับแนวทางการเมืองของประเทศ สาเหตุสำคัญมีอาทิการกำหนดสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองใหม่ จนถึงข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ที่เรียกว่า "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ซึ่งนำเสนอรัฐสภาและทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เพื่อมีพระราชวินิจฉัย ซึ่งทรงวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยทรงเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายได้ ขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรถือว่าปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและเป็นความต้องการรักษาอำนาจของ "ฝ่ายศักดินา" หรือ "ระบอบเก่า" ความขัดแย้งดังกล่าวขยายตัวชัดเจนมากขึ้นจนมีการอภิปรายในรัฐสภาคัดค้านเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว กดดันให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางไปพำนักในฝรั่งเศส ก่อนที่ผู้นำฝ่ายทหารของคณะราษฎรคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ต้องก่อรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจของคณะราษฎรไว้ ทำให้ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายรุนแรงมากขึ้น[16]

ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชทรงส่งกำลังทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางนครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี เคลื่อนกำลังทางรถไฟเข้ายึดสนามบินดอนเมืองได้เมื่อวันที่ 12 และเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ไปตามแนวคลองบางเขนจนถึงสถานีรถไฟบางเขน เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา กระทำตามเงื่อนไข 6 ข้อ ใจความโดยย่อคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อำนาจรัฐสภามากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้กลายเป็นคณะเผด็จการ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนั้นถูกมองจากฝ่ายนิยมคณะราษฎรว่าเป็นความพยายามในการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และต่อต้านระบอบประชาธิปไตย

ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลได้มอบหมายให้พันโทหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับกองผสมทำการรุกตอบโต้ จนทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนถึงวันที่ 15 กำลังทหารหัวเมืองได้ถอนกำลังออกจากดอนเมือง เคลื่อนที่ไปยังปากช่องอันเป็นที่มั่นด่านสุดท้าย ขณะที่กองหน้าของกองบังคับการผสมได้ติดตามไปจนถึงสถานีปากช่อง และ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพซึ่งรับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง ถูกยิงเสียชีวิตบนทางรถไฟใกล้สถานีหินลับ อำเภอปากช่อง ในเวลาพลบค่ำ

เมื่อที่มั่นแห่งสุดท้ายคือสถานีปากช่องถูกยึด และแม่ทัพเสียชีวิต พระองค์เจ้าบวรเดชและชายาจึงเสด็จหนีโดยทางเครื่องบินจากฐานบินโคราช มีหลวงเวหนเหิรเป็นนักบิน ไปขอลี้ภัยทางการเมืองที่เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงย้ายไปประทับที่ประเทศกัมพูชา และเสด็จกลับประเทศไทยโดยรถยนต์เข้าทางอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี พร้อม หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร ชายา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2491[17]หลังจากที่รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมืองทุกคดี โดยพระชนม์ชีพที่ไซง่อนและกัมพูชา ทรงเปิดโรงงานทอผ้าและค้าขายถ่าน รวมระยะเวลาที่ทรงลี้ภัยนานถึง 16 ปี [15]

ใกล้เคียง

พระวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช http://www.maneebooks.com/German_capt/germ_14.html http://www.rakbankerd.com/01_jam/thaiinfor/country... http://family.kridakorn.net/MLSaksiri/KridakornTre... http://www.thaipost.net/node/17214 http://www.kridakorn.org/html/kridakorn_t.html http://www.sri.cmu.ac.th/~maeyinglanna/main2/main9... http://www1.mod.go.th/heritage/nation/event2475/in... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2443/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/03...